คิดว่ามีเพื่อนๆ หลายคน สงสัยในเรื่องของการเลือกสายต่อจอมอนิเตอร์ จะใช้แบบไหนดี? HDMI ดีไหม? หรือเลือกแค่ VGA ก็พอ? ผมเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าสายต่อมอนิเตอร์แต่ละชนิดมันแตกต่างกันอย่างไร ฉะนั้น วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักสายต่อมอนิเตอร์ รวมถึงข้อได้เปรียบในการนำมาใช้งาน เลือกแบบไหนให้เหมาะกับจอภาพครับ

 

VGA

เริ่มกันที่สาย VGA กันก่อน คำว่า VGA มาจาก Video Graphics Array ซึ่งเราอาจเรียกได้อีกชื่อว่า RGB connection หรือ D-sub สายประเภทนี้ ได้ถูกใช้มาอย่างนมนาน ตั้งแต่สมัยจอตู้ CRT แล้วล่ะครับ

ในทางเทคนิคมันสามารถส่งสัญญาณไปจากการ์ดจอ ไปยังจอมอนิเตอร์ ได้ความละเอียดสูงถึง 1920×1080 แต่ด้วยความที่มันเป็นสายแบบอะนาล็อก (Analog) จึงมีสัญญาณรบกวบในระหว่างส่งข้อมูลจากการ์ดจอค่อนข้างมาก ผลก็คือภาพจะไม่คมชัด มีรอยขีด หรือภาพไม่ขึ้น และมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

ในปัจจุบันเมื่อความละเอียดของจอเพิ่มมากขึ้น ความนิยมของ VGA ก็ลดน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดในการส่งสัญญาณนี้ ทำให้การ์ดจอและมอนิเตอร์ส่วนใหญ่ ไม่มีช่องต่อสาย VGA แล้วครับ

 

DVI

สาย DVI หรือ Digital Visual Interface เป็นการพัฒนาให้การส่งสัญญาณจากการ์ดจอ ไปยังจอมอนิเตอร์เป็นแบบดิจิตอล แต่สายต่อแบบ DVI ก็มีอยู่หลายประเภทย่อย ไม่ว่าจะเป็น DVI-A (อะนาล็อก), DVI-D (ดิจิตอล) หรือ DVI-I (อะนาล็อก + ดิจิตอล) แถมยังมีแบบ Single-link และ Dual-link ในสาย DVI-D/DVI-I อีกต่างหาก

ปัจจุบัน หัวต่อ DVI-A ก็เริ่มไม่มีให้ใช้แล้วล่ะ เพราะคุณภาพไม่ต่างจากสาย VGA ส่วน DVI-D สามารถส่งภาพใน Refresh rate ได้สูงถึง 144 Hz บนความละเอียด 1080p (1920×1080)

ในส่วนความแตกต่างของสายแบบ Single-link และ Dual-link คือเรื่องของแบนด์วิดธ์ในการส่งสัญญาณ ถ้าแบบ Single-link จะส่งสัญญาณบนแบนด์วิดธ์ 3.96 Gbit/s รองรับความละเอียดสูงสุด 1920×1200 ส่วนแบบ Dual-link จะมีตำแหน่งของพินเพิ่มเติม โดยส่งสัญญาณบนแบนด์วิดธ์ 7.92 Gbit/s รองรับความละเอียดสูงสุด 2560 x 1600

ทั้งนี้ ปัจจุบันนิยมใช้หัวต่อ DVI เป็นมาตรฐาน การ์ดจอส่วนใหญ่จะมีพอร์ต DVI มาให้นะครับ แต่ถ้าเราต้องใช้งานร่วมกับจอที่มีความละเอียดสูงๆ ก็แนะนำว่าให้ใช้ HDMI หรือ DisplayPort จะดีกว่า

 

HDMI

พอร์ต HDMI หรือ High-Definition Multimedia Interface เป็นพอร์ตที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในด้านมัลติมีเดีย เนื่องจากข้อจำกัดของหัวต่อแบบ VGA และ DVI ที่ไม่สามารถนำสัญญาณเสียงได้ เพราะจอโทรทัศน์บางรุ่น จะมีลำโพงในตัว ดังนั้น HDMI จึงได้เข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้

พอร์ต HDMI เริ่มเข้ามามีบทบาทกับจอมอนิเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแบนด์วิดธ์ที่มาก โดยในรุ่น 1.4 สามารถส่งสัญญาณได้บนแบนด์วิดธ์ 10.2 Gbps/s ซึ่งในช่วงแรกที่จอเริ่มมีความละเอียดสูงมากขึ้น HDMI จึงได้เข้ามาแทนที่ DVI ในจอระดับสูงหลายๆ รุ่น

แต่เมื่อมีจอระดับ 4K เข้ามา แบนด์วิดธ์ของ HDMI 1.4 จึงไม่เพียงพอ แม้จะสามารถใช้งานกับจอ 4K ได้ แต่เฟรมเรตจะทำได้แค่ 24 fps เท่านั้น จึงทำให้มีการพัฒนา HDMI 2.0 ที่รองรับจอระดับ 4K ได้ 60 fps อีกทั้งยังสามารถแสดงสีได้ในขนาด 10-12 บิตด้วย (รุ่น 1.4 ได้แค่ 8 บิต)

 

DisplayPort

DisplayPort เป็นพอร์ตเชื่อมต่อใหม่ล่าสุดในขณะนี้ โดยในรุ่น 1-1.1a รองรับการแสดงผลในอัตรา 144Hz บนความละเอียดระดับ 1080p ได้ ในขณะที่รุ่น 1.2-1.2a จะรองรับการแสดงผลในอัตรา 144Hz บนความละเอียดระดับ 1440p และสามารถแสดงผลในอัตรา 60 Hz บนความละเอียดระดับ 4K ได้ด้วย

ส่วนรุ่นที่ใหม่กว่าอย่าง 1.3 และ 1.4 ก็จะมีแบนด์วิดธ์เพิ่มขึ้น ทำให้รองรับการแสดงผลในอัตรา 120 Hz และ 144 Hz ตามลำดับ สำหรับความละเอียดระดับ 4K แถมทั้ง 2 รุ่นนี้ยังรองรับจอ 8K ด้วยนะ

ข้อได้เปรียบของ DisplayPort เมื่อเทียบกับ HDMI นอกจากจะรองรับการแสดงผลความละเอียดสูงแล้ว ยังรองรับการทำการต่อหลายๆ จอ เพื่อทำ Multiple Streaming ผ่าน Multi-Stream Transport (MST)

นอกจากนี้ หัวต่อ DisplayPort ได้ถูกพัฒนาให้สามารถทำงานร่วมกับจอ AMD FreeSync และ Nvidia G-Sync ฉะนั้นหมดห่วงได้เลยว่าเกมไม่มี Screen Tearing แน่นอน

 สำหรับในวันนี้ ก็คิดว่าเพื่อนๆ จะได้รับความรู้และสาระไปไม่มากก็น้อย ถ้ามีข้อมูลตรงไหนผิดไป หรือไม่เข้าใจก็สามารถคอมเมนต์บอกมาได้นะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.expertreviews.co.uk,www.extremeit.com