คุณยังไม่มีสินค้าในรถเข็น
สายสัญญาณที่ดีนั้นสำคัญไฉน
7 เม.ย. 2020 14:21:28
ในโลกยุคปัจจุบัน อะไรๆ ก็เข้าสู่ระบบไร้สาย (Wireless) กันมากขึ้น จนบางคนลืมไปแล้วว่าเมื่อก่อนนี้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือกล้องวงจรปิดก็ตาม และเชื่อหรือไม่ว่าจนถึงบัดนี้ สายสัญญาณก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่อาจจะอยู่ในที่ที่หลายๆ ท่านคาดไม่ถึง และแม้แต่ในสถานที่ที่วางระบบเครือข่ายแบบไร้สายเอาไว้ ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สายสัญญาณอยู่นะครับ … ฉะนั้น ก็น่าจะมาคุยกันหน่อยดีกว่าว่า แล้วสายสัญญาณนั้นมันสำคัญไฉน ทำไมต้องเลือกใช้สายสัญญาณดีๆ
สายสัญญาณที่เห็นได้บ่อยๆ
จริงๆ แล้ว สายสัญญาณนี่มีหลากหลายแบบมาก แต่ผมจะขอจำกัดแค่เรื่องของสายสัญญาณ 3 ที่เรามักจะได้เห็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะในกรณีของการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และพวกกล้องวงจรปิด นั่นก็คือ สาย UTP (Unshielded Twisted Pair), สาย Fiber optic และ สาย Coaxial ครับ
สาย UTP (Unshielded Twisted Pair)
ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่าสาย LAN ครับ เป็นสายสัญญาณที่มีคุณสมบัติตามชื่อครับ Unshielded คือ ไม่มีการหุ้มเพื่อกันสัญญาณรบกวน, Twisted Pair คือ ตัวสายสัญญาณภายในจะมีการไขว้กันเป็นคู่ๆ (ทั้งนี้เพื่อลดการรบกวนกันของสัญญาณ) ซึ่งก็จะแบ่งออกไปเป็น Category ต่างๆ อีก ที่เมื่อก่อนเราจะรู้จักในนาม Cat 5 และ Cat 5e แต่ในปัจจุบันนี้ สายสัญญาณประเภท UTP นี้ มีไปถึงระดับ Cat 6 และ Cat 6A กันแล้ว
จากในภาพ … สังเกตนะครับ สายสัญญาณ UTP จะถูกแบ่งออกเป็นคู่ๆ โดยแบ่งออกเป็นคู่สีต่างๆ (สายสัญญาณต้องแบ่งเป็นสีๆ เพราะเวลาเข้าหัว มันก็ต้องจับคู่สีด้วย) และอีกอย่างก็คือ นอกจากปลอกฉนวนหุ้มสายแล้ว จะเห็นว่าไม่ได้มีการใส่ Shield หรือ ตัวกันสัญญาณรบกวนอะไรไว้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสายสัญญาณพวกนี้ไม่ได้ใช้ในระยะทางที่ไกลๆ มาก ดังนั้นจึงไม่ได้จำเป็นต้องมีการป้องกันเยอะ แต่นั่นก็ทำให้หากเราเดินสายเป็นระยะทางไกลๆ ความเร็วในการรับส่งข้อมูลจะตกลงไปเรื่อยๆ
สาย Fiber optic หรือ ใยแก้วนำแสง
สายสัญญาณสำหรับการเชื่อมต่อความเร็วสูง เมื่อก่อนเป็นอะไรที่เราจะได้เห็นเขาใช้กันในระดับองค์กร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ก็มีให้เห็นตามบ้านกันบ้างแล้ว เช่น FTTH (Fiber to the Home) ซึ่งมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยหลายรายให้บริการดังกล่าวแล้ว หรือในระดับคอนโดมีเนียม ที่ใช้สาย Fiber optic เป็นสายสัญญาณหลัก (Backbone) สำหรับเดินภายในตัวอาคาร แล้วค่อยแยกย่อยไปตามแต่ละชั้น โดยใช้สายสัญญาณประเภทอื่น
ข้อดีของสาย Fiber optic ก็คือใช้แสงในการรับส่งข้อมูล ซึ่งพวกสัญญาณรบกวนภายนอกนั้นจะไม่สามารถรบกวนแสงได้ครับ โดยวิธีการส่งสัญญาณนั้น ดูจากรูปประกอบด้านล่าง จะเห็นว่าภายในสายนั้นจะมีการฉาบสารเคลือบเอาไว้ เพื่อไม่ให้แสงนั้นสะท้อนออกไปภายนอก (ซึ่งนั่นจะทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลตกลง)
ส่วน Coating หรือการเคลือบอีกชั้น มีไว้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ป้องกันการแตกหัก เพราะต้องไม่ลืมว่าสายสัญญาณนี้ทำมาจากใยแก้วนะครับ หากไม่ทำแบบนี้ เวลาเอาไปใช้งาน โอกาสแตกหักมันจะสูงครับ
สาย Coaxial
เป็นสายสัญญาณที่ผมว่าเราน่าจะคุ้นเคยกันที่สุดนะครับ เพราะสายสัญญาณจากเสาอากาศทีวีเนี่ย ก็เป็นสายประเภท Coaxial นี่แหละครับ ช่างไฟเขาเรียกสั้นๆ ว่าสายโคแอ็กๆ อ่ะ ซึ่งก็แบ่งออกเป็นสายประเภทต่างๆ ที่เรียกว่า RG (ย่อมาจาก Radio Guide) ไม่ว่าจะเป็น RG-6, RG-8, RG-11, RG-58, RG-59 อะไรแบบนี้ ซึ่งแต่ละแบบก็มีสเปกที่แตกต่างกันออกไป
สาย Coaxial นั้นมีข้อดีตรงเป็นสายประเภท Shield ครับ คือ มีการเพิ่ม Shield เพื่อป้องกันการรบกวนจากสัญญาณภายนอก โดยปกติแล้วก็จะมีการป้องกัน 2 ชั้น คือ Foil shield และ Braided shield ครับ … และเผื่อใครไม่ทราบ สาย Coaxial นี่เป็นสายสัญญาณที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ เลยนะครับ ปัจจุบัน นอกจากเราจะเห็นการใช้สาย Coaxial กับโทรทัศน์แล้ว ก็มีการใช้ร่วมกับกล้องวงจรปิดนี่แหละครับเป็นส่วนใหญ่
สายสัญญาณคุณภาพดีกว่า มันดีกว่าตรงไหนกัน?!?
บางคนมองว่า สายสัญญาณต่างๆ นั้น มีการระบุสเปกเอาไว้เป็นมาตรฐานอยู่แล้วว่าต้องเป็นยังไง แล้วที่สายสัญญาณยี่ห้อต่างๆ โฆษณากันว่าเป็นสายสัญญาณคุณภาพดีนั้น มันแตกต่างกันตรงไหน?!? คำตอบส่วนนึงอยู่ในสเปก และคำตอบอีกส่วนหนึ่งอยู่ในส่วนที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สเปกของสายโดยตรงครับ
ลองยกตัวอย่างดูกัน สำหรับสายสัญญาณแต่ละประเภทนะครับ
สาย UTP
อันดับแรกเลย ง่ายที่สุด ก็คือเรื่องของการชี้บ่งด้วยสายตาครับ ซึ่งไม่ต้องให้ถึงขนาดภาพด้านล่างที่ผมเอามาประกอบเป็นตัวอย่างหรอกครับ ลำพังแค่ตามออฟฟิศต่างๆ ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง หรือแม้แต่ภายในบ้านของเราเอง ที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายๆ ตัว หากไม่มีการชี้บ่งให้ดีๆ เราก็งงเอาง่ายๆ อยู่แล้วว่าเส้นไหนมันไปต่อกับอันไหน เวลาจะถอดจะเปลี่ยนที ก็ดึงผิดๆ ถูกๆ
ที่มาของภาพ: www.laneros.com
ฉะนั้น อย่างแรกสุดเลย หากสายสัญญาณ รวมถึงหัวตัวผู้ (ศัพท์ทางการเขาเรียก Modular plug) และหัวตัวเมีย (Modular jack) ที่มีให้เลือกนั้น มีหลากหลายสี มันก็จะช่วยได้มากเรื่องการชี้บ่งแบบง่ายๆ ครับ เพราะถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์จำนวนไม่มาก ก็คงไม่ต้องถึงขนาดทำรหัสเลขไว้บนสาย แต่ใช้สีเป็นตัวบอกได้ว่า เส้นไหนควรเสียบเข้ากับหัวไหนก็พอ
แล้วตอนที่ไปซื้อสายสัญญาณกัน รู้ไหมว่าเขามีสายอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ สำหรับการเดินสายภายใน อย่างแรกเรียก CM (Communications Metallic) ครับ ซึ่งเป็นสายที่ใช้งานทั่วๆ ไปภายในชั้นเดียวกัน ซึ่งการลามไฟจะมากกว่า ชนิด CMR (Communication Metallic Riser) ที่เอาไว้สําหรับเดินระหว่างชั้นของอาคาร และสามารถเดินสายภายในชั้นเดียวกันได้เช่นเดียวกับ CM ซึ่งสายประเภทนี้จะถูกออกแบบมาให้ไม่เกิดการลามของไฟ เวลาที่ตัวของมันติดไฟครับ
สรุปคือ
-
สาย CMR มีอัตราการลามไฟน้อยกว่าสาย CM
-
สาย CMR ใช้แทนสาย CM ได้
ที่มาของภาพ: บริษัท INTERLINK
สังเกตจากรูปการทดสอบจะเห็นว่าสายประเภท CMR ที่อยู่ด้านซ้ายนั้น ไฟจะไม่ลามไปตามสาย และเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ไฟก็จะดับลง ในขณะที่สายแบบ CM นั้น ไฟจะสามารถลามไปตามสายได้ครับ … สายประเภท CMR นั้น เขาไม่ให้ไฟลามไปตามสายเพราะเป็นสายที่จะถูกใช้ในอาคาร เพื่อเดินสายสัญญาณระหว่างชั้น หากไฟลามไปตามสายได้ ก็จะทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้ ก็อาจจะกลายเป็นเส้นทางให้ไฟลามจากชั้นหนึ่งไปสู่อีกชั้นหนึ่งได้
นอกเหนือจากเรื่องของสายสัญญาณแล้ว การเข้าหัวก็สำคัญครับ มือใหม่หัดเข้าจะรู้เลย การเข้าหัวสาย LAN นั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก นอกจากจะต้องจำคู่สีแล้ว เวลาเข้าหัวเนี่ย ถ้าทำไม่ดี สัญญาณก็จะเข้าไม่เต็มที่ สายก็ใช้งานไม่ได้ครับ แล้วหัวนึงก็ไม่ใช่ถูกๆ … แต่ถ้าเป็นอย่างหัวยี่ห้อ LINK จะเป็นชนิดที่มี 3 เขี้ยว ซึ่งเขาว่าสามารถเข้าหัวสาย LAN ให้หน้าสัมผัสกับสายทองแดงได้มากกว่าแบบทั่วไปที่มีเพียง 2 เขี้ยวเท่านั้น
อีกเรื่องนึงคือค่าความถี่ของสายครับ ซึ่งปกติแล้วสาย UTP แบบ Cat 5e ก็จะมีความถี่อยู่ที่ 100MHz ในขณะที่สายแบบ Cat 6 จะมีความถี่อยู่ที่ 250MHz ครับ แต่ว่าสาย LINK จะผลิตและทดสอบที่ ความถี่ 350 MHz สําหรับ Cat5e และ Cat6 ที่ 600MHz
สาย Fiber Optic
เช่นเดียวกันกับสาย UTP ครับ สาย Fiber Optic ก็มีเกรดที่กันไฟลามได้เช่นกัน เขาเรียกว่า LSZH (Low Smoke Zero Halogen) ครับ ซึ่งจากวิดีโอทดสอบที่ผมได้ดูนั้น เมื่อนำสายสัญญาณประเภท LSZH กับแบบปกติมาเผาไฟเทียบกันดู จะเห็นว่าสายสัญญาณประเภท LSZH นั้นจะไม่ติดไฟครับ แม้ว่าฉนวนจะโดนความร้อนของไฟซะจนละลาย แต่ไฟจะไม่ติดสาย ในขณะที่สายสัญญาณปกตินั้นจะติดไฟ
ที่มาของภาพ: บริษัท INTERLINK
อีกเรื่องนึง อาจจะไม่เชิงว่าเป็นคุณภาพของสายซักเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องของตัวเลือกมากกว่า … อย่างยี่ห้อ LINK เขาจะมีตัวเลือกให้เราเลือกใช้ได้เหมาะสมกับการใช้งานครับ ตั้งแต่สายสัญญาณ Fiber Optic แบบที่ใช้เดินภายในตัวอาคาร, สายสัญญาณ Fiber Optic ที่ใช้เดินจากชุมสายภายนอกอาคารเข้าสู่ภายในอาคาร, สายสัญญาณที่ใต้ดิน ซึ่งต้องมีการหุ้มเกราะหลายชั้นหน่อย จะได้ไม่โดนอะไรกัดแทะ, และสายสัญญาณประเภทที่ใช้เดินไปตามเสาไฟฟ้า ที่จะต้องมีสายสำหรับคล้องไปกับสายไฟ เป็นต้น
ที่มาของภาพ: บริษัท INTERLINK
สาย Coaxial
สายสัญญาณประเภท Coaxial ก็เป็นอีกประเภทนึงที่ความหลากหลายก็เป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ที่ดีๆ ครับ อย่างแบรนด์ LINK เพราะ LINK มีสายสัญญาณประเภทที่ใช้ในงานหลากหลายไม่แพ้สาย Fiber Optic เลย จริงๆ แล้วมีมากกว่าด้วยครับ … พื้นฐานสุดๆ คือ แบ่งเป็นการเดินสายภายในอาคารและภายนอกอาคาร และภายนอกอาคารก็มีแบบที่ใช้แขวนเสาด้วย (แบบเดียวกับสาย Fiber Optic เลย)
แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ด้วยความที่สาย Coaxial นั้นเป็นสายสัญญาณประเภทมีฉนวนป้องกัน ก็จะมีความหลากหลายในเรื่องของการป้องกันว่าจะป้องกันระดับไหน 60% หรือ 96% … ตัวเลข % นี่คือตัวที่บอกว่าฉนวนป้องกันสัญญาณรบกวนเนี่ยครอบคลุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ของสายสัญญาณ
นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นสายสัญญาณประเภทที่ใช้ร่วมกับกล้องวงจรปิด ก็เลยมีสายประเภทที่ใช้สำหรับใช้กับลิฟต์ด้วย (ไว้ใช้ต่อกับกล้องวงจรปิดภายในลิฟต์) เพราะต้องมีความทนทานและยืดหยุ่นสูง เนื่องจากต้องสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ตามลิฟต์ด้วย และสาย Coaxial บางประเภทก็จะมีสายไฟฟ้าในตัว เวลาเอาไปใช้กับกล้องวงจรปิด จะได้ไม่ต้องเสียเวลา (และเสียเงิน) เดินสายไฟกันอีกรอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่สุดตอนเดินสายภายนอกอาคารนี่แหละครับ
วางแผนเรื่องสายสัญญาณในอาคารออฟฟิศและคอนโดมีเนียมแต่แรกให้ดี มีชัยไปเกินครึ่ง
สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะสร้างอาคารใหม่ หรือคอนโดมีเนียม การวางแผนเดินสายสัญญาณภายในอาคารให้ดีแต่แรก มันจะช่วยให้อะไรๆ มันง่ายขึ้น สะดวกขึ้นเยอะมาก โดยเริ่มจากวางแผนว่าคอนโดมีเนียมหรือออฟฟิศยุคใหม่แบบนี้ จะมีพวกอุปกรณ์เครื่องใช้อะไรที่น่าจะมีและเชื่อมต่อสายสัญญาณได้ ก็เตรียมไว้ให้พร้อม ทั้งสายสัญญาณอินเทอร์เน็ต, สายสัญญาณโทรทัศน์, สายโทรศัพท์, สาย Fiber optic, สายสัญญาณสำหรับสัญญาณเตือนไฟไหม้ ฯลฯ
จากรูปทั้งสอง คือ การนําเสนอเทคโนโลยีการวางแผนเรื่องสายสัญญาณ ที่เรียกว่า “Open Cabling” คือ ระบบสายสัญญาณที่ออกแบบถูกต้องตามมาตรฐานสากล ง่ายต่อการจัดการ และรองรับการใช้งานในอนาคต โดยมีการออกแบบเต้ารับให้ครอบคลุมต่อทุกความต้องการของผู้ใช้งาน และ Patch panel เป็นจุดรวมและกระจายสายสัญญาณ ไปยังเต้ารับ เพื่อง่ายต่อการจัดการ
ข้อดีคือ
-สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย เพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
-ระบบมีความยืดหยุ่นสูง
-ใช้งานง่ายและประหยัด
-รองรับหลากหลายระบบ
-ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial
ข้อมูลจาก www.kafaak.com