โลกเทคโนโลยีกำลังเข้าสู่ยุคไร้สายกันเข้าเรื่อยๆ นะครับ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในบ้านก็ไร้สาย หลายๆ บริษัทก็ให้พนักงานเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับเครือข่ายของบริษัทผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือ และแบนด์วิธของข้อมูล สายเคเบิ้ลก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นพระเอกที่อยู่เบื้องหลังของระบบเครือข่ายแทนนั่นแหละ

 

การอยู่ร่วมกันของระบบเครือข่ายไร้สาย และระบบเครือข่ายใช้สาย

 

เพื่อให้อ่านแล้วคล้องจองชวนสับสน ผมขอเรียก Wireless network ว่า ระบบเครือข่ายไร้สาย หรือ Wireless ส่วน Wired network ก็ขอเรียกว่า ระบบเครือข่ายใช้สาย หรือ Wiring ก็แล้วกันนะครับ ... ปกติแล้ว ในบ้านที่คนในบ้านเลือกใช้อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊ก ก็มักจะเลือกใช้ระบบเครือข่ายไร้สาย เพราะอุปกรณ์พวกนี้มักจะมีตัวรับสัญญาณแบบไร้สายมาด้วย และสะดวกในการใช้งาน

 

แต่ในกรณีของบ้านใหญ่ๆ (จำพวก กงสี หรือ บ้านที่ประกอบไปด้วยครอบครัวย่อยๆ ญาติพี่น้องอาศัยอยู่รวมกัน) อพาร์ทเม้นต์ คอนโด หรือพวกบริษัทต่างๆ ... เวลาพูดถึงระบบเครือข่ายแล้ว เราต้องนึกถึง การอยู่ร่วมกันของระบบเครือข่ายไร้สายและระบบเครือข่ายใช้สายครับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเรื่องของประสิทธิภาพ และความสะดวกเข้ามาร่วมด้วยนั่นเอง

 

ระบบเครือข่ายไร้สายสะดวกสบาย แต่มีข้อจำกัดอยู่เยอะ ที่ผู้ใช้งานทั่วไปไม่ทันได้นึกถึงครับ เช่น แบนด์วิธที่จำกัด (ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการใช้งานบางประเภท), ค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ต่อจุดที่สูง อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เราต้องวางแผนเลือกใช้ให้เหมาะสม ซึ่งปกติแล้ว มันมักจะมาในรูปแบบประมาณนี้ครับ

 

ใช้สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ในการเดินสายจาก ISP มาที่ตัวอาคาร ต่อเข้ากับ Switch ตัวหลัก เพื่อให้ได้แบนด์วิธสูงสุดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (ที่เหลือก็อยู่ที่ว่ามีปัญญาจ่ายค่าเน็ตมากน้อยแค่ไหน)

จาก Switch ตัวหลัก ใช้สายเคเบิ้ลทองแดง (สาย LAN นั่นแหละ) แบบ Cat 6 เดินจาก Switch ตัวหลัก ไปตามจุดต่างๆภายในอาคาร เพื่อใช้สำหรับระบบ Internet ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากภายในอาคาร และใช้สาย Coaxial (ส่วนใหญ่ก็ใช้สาย RG6) ในการเดินภายในอาคารสำหรับกล้องวงจรปิด

สาย Cat 6 ที่เดินจาก Switch หลัก ไปต่อกับ Switch ย่อยอื่นๆ เพื่อแยกย้ายไปเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พวก IP Phone และพวก Wireless access point ต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายไร้สาย

ก็ประมาณนี้ครับ ... สำหรับหลายๆ ออฟฟิศ สายเคเบิ้ลยังมีความจำเป็นอยู่มาก โดยเฉพาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ๆ เช่น Workstation สำหรับตัดต่อวิดีโอ และพวกไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ โดยต้องการแบนด์วิธสูงๆ เอาไว้สำหรับเรียกใช้และจัดเก็บ ไฟล์งานขนาดหลายๆ กิกะไบต์นี่แหละ

 

คำถามคือ แล้วเลือกสาย Cat 5e หรือ Cat 6 ดีล่ะเนี่ย?!?

 

ที่นี้พอนึกถึงสาย LAN เราอาจนึกไม่ถึงว่า มันต้องเลือกอีกนะ ... เมื่อหลายปีก่อน เรามีตัวเลือกหลักๆ คือ สาย Cat 5e เพราะรองรับความเร็วในการส่งสัญญาณสูงถึง 1Gbps แต่เดี๋ยวนี้เรามีตัวเลือกเพิ่มอีกคือ Cat 6 ครับ ที่รองรับความเร็วสูงสุดถึง 10Gbps (ที่ระยะ 55 เมตร) ไหนจะมี Cat 6A อีกด้วยนะ คำถามเลยมีอยู่ว่า แล้วจะเลือกแบบไหนดี?



Cat 6A บอกตรงๆ ว่า เป็นอะไรที่ยังไม่จำเป็นขนาดนั้นสำหรับออฟฟิศทั่วๆ ไป หรือแม้แต่ในอพาร์ทเม้นต์เองก็เหอะ ... และถ้าใครมองที่งบประมาณเป็นหลัก อารมณ์ว่ายิ่งถูกยิ่งโอเค อาจจะมองไปที่ Cat 5e ครับ เพราะรองรับความเร็วระดับ 1Gbps เนี่ย สำหรับหลายๆ คนก็ถือว่ามากพอแล้วสำหรับการทำงานต่างๆ ... ยิ่งพิจารณาเฉพาะแค่การใช้อินเทอร์เน็ต ยิ่งไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะปัจจุบัน เน็ตที่ใช้กัน อย่างเก่งก็ 30Mbps หรือใครยอมจ่ายโหดๆ หน่อย ก็อาจจะได้ 100Mbps ถึง 250Mbps อย่างมาก

 

แต่มองในระยะยาว พวกคอนเท้นต์ต่างๆ พวกไฟล์ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ต่อให้เป็นภายใน LAN ที่บ้านหรือในออฟฟิศเองก็เหอะ ภายใน 5 ปี ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าความเร็วแค่ระดับ 1Gbps เองก็อาจจะไม่พอแล้ว ซึ่งตรงนี้ Cat 6 จะรองรับความเร็วเผื่อไว้มากกว่า คือ 10Gbps (ที่ระยะ 55 เมตร) ... แน่นอนว่าราคาของสาย Cat 6 นั้นต้องแพงกว่า Cat 5e อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้แพงกว่าจนเวอร์วัง ต้องมาคิดหนักว่าจะเลือกอะไร

 

พิจารณาจากตารางด้านบน ที่ผมแอบไถบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้นำด้านระบบสายสัญญาณ ซึ่งผมขอข้อมูลไปว่า หากเทียบระหว่างสายสองประเภทนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมันแตกต่างกันมากไหม ผมก็พบว่า ที่ระยะประมาณ 500 เมตร ซึ่งก็เพียงพอสำหรับออฟฟิศขนาดย่อมๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายมันแตกต่างกันแค่ประมาณ 5% เท่านั้นเอง และเมื่อเทียบต่อ 1 หน่วย (1 เมตร) ก็ยังต่างกันเพียง 5 % เท่านั้นเช่นกัน

 

คือ บางครั้งเราไปพิจารณาแต่แค่ความแตกต่างของราคาสายเคเบิ้ล ซึ่งหากพิจารณาแบบนั้น สาย Cat 6 ที่ราคา 15.38 บาท/เมตร ก็จะแพงกว่า Cat 5e ที่ราคา 11.15 บาท/เมตร อยู่ประมาณ 38% ซึ่งดูแพงอักโขมากทีเดียว ... แต่จริงๆ แล้ว หากมองในภาพรวม ราคาของสายเคเบิ้ลมันแค่ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 1/3) ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งทั้งหมดนะครับ และที่เราได้มาเพิ่มก็คือ ความพร้อมของแบนด์วิธ สำหรับการใช้งานในอนาคตนั่นแหละ

 

FTTx ... Fiber to the What???

 

อีกเทคโนโลยีนึงที่เดี๋ยวนี้เข้ามามีบทบาทมากก็คือเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงครับ เพราะมันมีข้อดีเหนือกว่าพวกสายสัญญาณที่เป็นทองแดงอยู่หลายข้อเลย เช่น

 

แบนด์วิธเยอะกว่า (มาก) ทำให้รับส่งข้อมูลได้ไวกว่า

โครงสร้างมีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบากว่าสายเคเบิ้ลที่เป็นทองแดงเยอะ

การรับส่งข้อมูลทำด้วยแสง จึงไม่ถูกรบกวนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใดๆ

ตัวสายสัญญาณเป็นแก้ว มีคุณสมบัติเป็นฉนวน ไม่นำไฟฟ้า แม้จะไปสัมผัสกับสายเปลือยก็ไม่โดนไฟดูด

แทบจะดักสัญญาณข้อมูลไม่ได้เลย (ในขณะที่สายทองแดงนั้น สามารถดักสัญญาณได้ด้วยการเอาสายสัญญาณอีกเส้นไปต่อพ่วง)

สามารถเดินสายสัญญาณเป็นระยะไกลๆ ได้แบบหลายสิบกิโลเมตร (มาตรฐาน 10GBASE-ER เดินสาย 40 กิโลเมตร ความเร็ว 10Gbps หรือมาตรฐาน 100GBASE-ER4 เดินสาย 40 กิโลเมตร ความเร็ว 100Gbps) ในขณะที่สายสัญญาณที่เป็นทองแดงอย่างเก่งก็ไปได้แค่ 100 เมตร (ไกลกว่านั้นสัญญาณอ่อน ความเร็วตก)

 

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีการใช้สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงนี้ กับการเชื่อมต่อระหว่าง Site ครับ ไม่ว่าจะเป็น FTTH (Fiber to the Home) เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วระดับกิกะบิต หรือ FTTC (Fiber to the Curb) หรือ FTTO (Fiber to the Office) ซึ่งให้ประโยชน์ในการใช้งานที่มากกว่าแค่อินเทอร์เน็ต เช่น การทำ Video conference แบบเห็นหน้า หรือแม้แต่ IP Phone (ใช้มาก โดยเฉพาะกับองค์กรระดับนานาชาติที่ต้องมีการโทรศัพท์คุยงานกันข้ามประเทศบ่อยๆ เพราะหากไปใช้โทรศัพท์ปกติ ค่าโทรบานตายชัก)

 

อย่างไรก็ดี สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงมันก็มีข้อจำกัดในการใช้งานครับ

 

สายมันเปราะ แตกหักได้ง่าย (ก็มันเป็นแก้วนิ)

มีข้อจำกัดในการโค้งงอ จึงเกิดนวัตกรรมในการผลิตสายใยแก้วนำแสงทำให้มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อใช้ในการติดตั้งภายในอาคารเท่านั้น



สุดท้ายแล้ว คือการอยู่ร่วมกันระหว่างสายทองแดงและสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง

 

ด้วยข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไประหว่างสายเคเบิ้ลที่เป็นทองแดง และสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง มันเลยทำให้เมื่อนำมาใช้งาน ทั้งสองสามารถเสริมกันและกันได้ดีกว่าที่จะไปเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งครับ

 

สำหรับการใช้งานภายนอกอาคารที่อาจจะโดนสัญญาณรบกวนสูง และมีความจำเป็นต้องเดินสายเป็นระยะไกลๆ ทำให้โอกาสที่จะมีใครไปตัดสาย ไปทำสายงอ สายหัก น้อยมาก หรือแม้แต่การเป็น Backbone ภายในอาคารเอง สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงก็เลยกลายเป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่อาจจะต้องเลือก "ประเภท" ของสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่เหมาะสมด้วย (เช่น สาย LSZH - Low Smoke Zero Halogen ที่เป็นสายไม่ลามไฟ เอาไว้ใช้ภายในอาคาร หรือสาย Drop wire ที่เอาไว้สำหรับเดินเกาะไปตามแนวสายไฟ)

 

แต่พอมาเป็นภายในอาคาร ที่การเดินสายไม่ได้ยาวมาก สาย Cat 6 ก็จะมามีบทบาทมากกว่า เพราะรองรับความเร็วที่สูง ภายในระยะทางที่เหมาะสม และอุปกรณ์ต่างๆ ก็รองรับอยู่แล้ว (ใช้หัว RJ-45 หรือหัว LAN แบบทั่วๆ ไป) และจะเดินสายโค้งงอให้เหมาะสมกับการเดินสายไปเชื่อมต่อ

 

มันก็ประมาณนี้แหละครับ

 

ข้อมูลจาก www.kafaak.com